ประวัติ ของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก

อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก มีชื่อเต็มว่า อัลเฟร็ด โจเซฟ ฮิตช์ค็อก (Alfred Joseph Hitchcock) เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1899 ที่กรุงลอนดอน ในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัดและรักการละคร โดยครอบครัวมีกิจการค้าขายสินค้าทางการเกษตร ในวัยเด็กฮิตช์ค็อกเริ่มเรียนหนังสือกับโรงเรียนคณะเยซูอิต ทั้งที่ครอบครัวเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด แต่เขาเรียนไม่จบ ในเวลาต่อมา เขาอยากจะเป็นวิศวกร จึงถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนวิศวกรรมและการเดินเรือ จึงทำให้ฮิตช์ค็อกได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานด้านเครื่องกล ไฟฟ้าเสียง และการเดินเรือ ฮิตช์ค็อกทำงานครั้งแรกเมื่ออายุได้ 19 ปี เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณทางเทคนิคของบริษัทโทรเลขแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เข้าเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยลอนดอนไปด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะเขาสนใจในงานด้านภาพยนตร์มาตั้งแต่อายุ 16 ปี

จากนั้นฮิตช์ค็อกได้ย้ายไปทำงานด้านศิลป์และเป็นผู้ช่วยงานด้านเลย์เอ๊าท์ในแผนกโฆษณาของบริษัท ในปี 1920 ฮิตช์ค็อกมีผลงานด้านภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ในฐานะเป็นผู้ออกแบบไตเติล ให้กับบริษัทภาพยนตร์ที่ชื่อ เฟมัส เพลเยอร์ส-ลาสกี้ (Famous Players-Lasky ซึ่งต่อมาก็คือ บริษัท พาราเม้าท์ พิคเจอร์) ที่มาเปิดสาขาในกรุงลอนดอน ในเวลาไม่นานนัก ฮิตช์ค็อกก็ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกและได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้เขียนบทและแผนกตัดต่อ และได้ทำหน้าที่กำกับฉากที่ไม่สำคัญบางฉากอีกด้วย ต่อมาในปี 1922 เฟมัส เพลเยอร์ส-ลาสกี้ ได้ขายกิจการให้กับบริษัทภาพยนตร์ของอังกฤษ เขาก็ได้รับเลือกให้มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ

ในปี 1925 หลังจากทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับมานาน ฮิตช์ค็อกก็ได้ทำหน้าที่กำกับภาพยนตร์เองเรื่องแรก คือเรื่อง The Pleasure Garden ซึ่งเป็นภาพยนตร์ธรรมดาที่ไม่ได้สะท้อนตัวตนของฮิตช์ค็อกเลย ภาพยนตร์เรื่องแรกของฮิตช์ค็อกที่ถือว่าเป็นตัวตนจริง ๆ คือเรื่อง The Lodger: A Story of the London Fog ในปี 1927 และจากนั้นฮิตช์ค็อกก็ได้ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าไปทำภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดในปี 1939

ด้านชีวิตครอบครัว ฮิตช์ค็อกสมรสกับ อัลม่า เรวิลล์ เมื่อปี 1926 โดยที่เธอป็นผู้เขียนบทและทำงานภาพยนตร์ร่วมกับฮิตช์ค็อกมาก่อน ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกันหนึ่งคน คือ แพทริเซีย ฮิตช์ค็อก ซึ่งต่อมากลายเป็นนักแสดงประกอบคนหนึ่งของฮิตช์ค็อกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้รับฉายาว่าเป็น ราชาหนังเขย่าขวัญ หรือ ราชาหนังระทึกขวัญ ก็ตาม ฮิตช์ค็อกกลับไม่เคยได้รางวัลอคาเดมี่หรือรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมเลยแม้สักครั้ง ใกล้เคียงที่สุดคือได้เข้าชิงใน 5 เรื่อง แม้ในเรื่อง Rebecca ในปี 1940 จะได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ตาม จนกระทั่งในปี 1968 สถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์ภาพยนตร์แห่งอเมริกามอบรางวัลเกียรติยศ อนุสรณ์เออร์วิ่ง จี. ธัลเบิร์ก (Irving G. Thalberg Memorial Award) ให้แก่ฮิตช์ค็อก ซึ่งเขาก็ได้ขึ้นไปกล่าวสั้น ๆ ว่า "ขอบคุณ" บนเวทีเท่านั้นแล้วก็เดินลงมา

ฮิตช์ค็อกได้รับรางวัลเกียรติยศอีกครั้งหนึ่ง ในปี 1979 โดยสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน โดยมอบรางวัล Life Achievement Award ให้ สองสัปดาห์ต่อมาขณะที่ฮิตช์ค็อกเตรียมงานเรื่องใหม่ คือ The Short Night แต่ว่าสภาพร่างกายของเขาไม่อำนวยเสียแล้ว เขาปิดสำนักงานในฮอลลีวู้ดและร่ำลาเพื่อนร่วมงานกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่บ้านพักที่แคลิฟอร์เนีย

3 มกราคม 1980 ฮิตช์ค็อกได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน จากการพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเจ้าหน้าที่กงสุลนำรางวัลนี้มามอบให้แก่เขาถึงที่ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ เนื่องจากเขาไม่สามารถเดินทางไปอังกฤษเพื่อรับพระราชทานรางวัลนี้ได้ด้วยตนเอง จากสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมเต็มที่

อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก เสียชีวิตลงในเวลา 09.17 น. ของเช้าวันที่ 29 เมษายน 1980 ที่บ้านพัก รวมอายุได้ 80 ปี [1]

ฮิตช์ค็อก ได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์โททัลฟิล์มให้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานดีเยี่ยมที่สุดเป็นอันดับ 1 ตลอดกาล[2]

โปสเตอร์เรื่อง Psycho (1960) ภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของฮิตช์ค็อกเจเน็ต ลีห์ ในบท "แมเรี่ยน เครน" กับฉากฆาตกรรมในห้องน้ำอันลือลั่นของ Psycho (1960)ฉากเปิดในเรื่อง The Birds (1963) โดยที่ฮิตช์ค็อกปรากฏตัวในเรื่องด้วยเป็นคนจูงสุนัขสวนกับนางเอกโปสเตอร์เรื่อง Rear Window (1954) ภาพยนตร์อีกเรื่องนึงที่มีชื่อของฮิตช์ค็อกแครี่ แกรนต์ วิ่งหนีเครื่องบินในทุ่งกว้าง ใน North by Northwest (1959)

ใกล้เคียง

อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก อัลเฟรด โนเบล อัลเฟรด เวล อัลเฟรด เบลล็อก อัลเฟรด ซิสลีย์ อัลเฟรท แวร์เนอร์ อัลเฟรด เฮอร์ชีย์ อัลเฟรด เทนนีสัน บารอนเทนนีสันที่ 1 อัลเฟรด เอ็ม. โมเอน อัลเฟรด สวอห์น